ความหมาย วันเช็งเม้ง
ชิงหมิง (qing-ming) หรือ เชงเม้ง หรือ เช็งเม้ง เป็นชื่อของสารท (1 ปี มี 24 สารท) โดยคำว่า “เช็ง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และคำว่า “เม้ง” หมายถึง สว่าง เมื่อนำคำว่า “เช็งเม้ง” มารวมกันแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์
วันเช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นการทำพิธีเซ่นไหว้และปัดกวาดหลุมศพบรรพบุรุษ โดยถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฌาปนกิจ เนื่องจากตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า “สร้างหลุมศพไม่ต้องสร้างเนินสุสาน” ดังนั้น จึงไม่เคยมีบันทึกถึงการทำความสะอาดเนินสุสานมาก่อน
แต่ในเวลาต่อมา เมื่อเริ่มมีความนิยมสร้างหลุมศพโดยสร้างเนินสุสานด้วยในภายหลัง จึงทำให้ประเพณีการเซ่นไหว้ที่สุสานเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเพณีที่ละเว้นไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้
วันไหว้เช็งเม้ง 2564 ตรงกับวันไหน
เมื่อเปิดปฏิทินจีนปี 2564 จะพบว่า วันเช็งเม้ง (清明) ตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันไหว้วันสุดท้ายของเทศกาลนี้ แต่วันที่เริ่มไหว้ คือวันที่ 20 มีนาคม 2564 หรือที่เรียกว่า สารทชุงฮุง (春分) แต่ละครอบครัวจึงนัดหมายรวมญาติกันไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนคำว่า “เช็งเม้ง” มีความหมายว่า ความสะอาด บริสุทธิ์ และแสงสว่าง ชาวไทยเชื้อสายจีนจะเดินทางไปที่สุสานเพื่อเตรียมไหว้ในช่วงเวลาไม่เกิน 10.00 น. โดยเริ่มจากการทำความสะอาดฮวงซุ้ย (สุสาน) และจัดเตรียมอาหาร ของไหว้อื่นๆ
ตำนานการเกิดวันเช็งเม้ง
ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อ แห่งแคว้นจิ้น หนีภัยออกนอกแคว้นไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้
เจี้ยจื่อทุยมีจิตใจเมตตาถึงขนาดเชือดเนื้อที่ขาของเขาเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิต ภายหลังเมื่อองค์ชายฉงเอ่อเสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น นาม จิ้นเหวินกง และได้สถาปนาตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือพระองค์ แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไป นานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงเพิ่งนึกขึ้นได้ จึงต้องการตอบแทนบุญคุณเจี้ยจื่อทุย โดยจัดหาบ้านให้เขาและมารดาให้เข้ามาอยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่ทว่าเจี้ยจื่อทุยปฏิเสธ
จิ้นเหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่ผลสุดท้ายกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ย ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน
เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรูปแบบการไหว้วันเช็งเม้งของชาวจีนในแต่ละพื้นที่จะต่างกันออกไป แต่เชื่อว่า ความหมายของ “วันเช็งเม้ง” ยังคงไว้ในเรื่องของการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่ลูกหลานรุ่นหลังให้เห็นถึงประวัติและคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีเช่นทุกวันนี้